สตรีทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเตรียมตัวรับมือก่อนการเปลี่ยนช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยสามารถรับมือง่ายๆ ได้ ดังนี้

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเป็นประจำ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ โดยเน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ ไม่ควรรับประทานโปรตีนมากเกินไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมมากขึ้นและทำให้ไตต้องทำงานหนักเกินไป เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
เสริมแคลเซียมและวิตามินดี ในกรณีที่ได้จากอาหารไม่เพียงพอ แต่ควรระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ออกกำลังการเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายชนิดแอโรบิก และมีการลงน้ำหนัก (weight-bearing) เสริมสร้างกล้ามเนื้อ (muscle strengthening) เช่น การวิ่งการเดินเร็ว, การเต้นแอโรบิค, การเล่นเทนนิส เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดแอโรบิคจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ในเลือดและเพิ่ม HDL ส่วนการออกกำลังกายแบบ weight-bearing และ muscle strengthening จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้การทรงตัวดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มและกระดูกหักได้
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง
คู่สมรสควรมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับความต้องการและปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์
ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ควรได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต การตรวจปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ตรวจภายในและเช็คมะเร็งปากมดลูก การตรวจแมมโมแกรม การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นไปตามข้อบ่งชี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง อาจตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม
ในกรณีที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพชีวิต อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้พูดคุย ปรึกษา เพื่อเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง